Thursday, February 5, 2009

สมาชิกเลือกเอง


ผมไม่ได้เขียนถึงสมาชิกนานมากครับ

เมื่อช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็เกรงใจผู้ร่วมสมัครเข้ารับเลือกตั้ง ไม่อยากโจมตีกันแบบ นักการเมือง

คงหาเสียงในรูปแบบของทีม เน้น หลุดพ้นจากสหกรณ์มือสมัครเล่น สู่ สหกรณ์มืออาชีพ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของมวลสมาชิกผ่าน ระบบผู้แทนสมาชิกที่เป็นรูปธรรม

ไม่หวังเพียงเพื่อประคับประคอง แต่มุ่งเน้นพัฒนา

แต่เมื่อคะแนนหยั่งเสียงออกมาเช่นนี้ ใจหนึ่งก็รู้สึกโล่ง ที่พ้นภาระได้ ใจหนึ่งก็ให้รู้สึกเป็นห่วงเป็นกังวล แม้จะมีทีมทำงานที่มีความเห็นสอดคล้องกัน เหลืออยู่ในคณะกรรมการชุดใหม่อีกไม่น้อย แต่ต้องยอมรับความจริงอันสำคัญ นั่นคือ 

สมาชิกเลือกเอง

ประเด็นที่เป็นห่วง ก็เนื่องมาจากการ หาเสียง นั่นเอง

1. การหาเสียงยังคงพยายามใช้รูปแบบ โจมตีกันแบบ นักการเมือง แทนที่จะเสนอแนวคิดในการพัฒนาสหกรณ์ 

2. สำหรับท่านที่เสนอนโยบายหวือหวา ประธาน(คนนี้) ขอวิเคราะห์เพื่อเตือนสติไว้ล่วงหน้าในประเด็นต่างๆดังนี้

     ประเด็นที่หนึ่ง  การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สามัญและฉุกเฉิน  แน่นอน ว่าย่อมเป็นที่พึงพอใจของมวลสมาชิก แต่เมื่อประกอบกับ การขยายวงเงินกู้ ก็จะทำให้สมาชิกเกิดหนี้สิน อันไม่จำเป็น ส่งผลกระทบทั้งตัวสมาชิกเอง ตลอดจนครอบครัว ผู้ค้ำประกัน และหากเกิดภาวะไม่สามารถชำระหนี้สินนั้นได้ ก็ย่อมส่งผลถึงสหกรณ์ และ สมาชิกอื่นๆในที่สุด 
     ความจำเป็นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นมา เพื่อปล่อยเงินกู้ที่ขยายเพิ่มขึ้น จะเป็นภาระของสหกรณ์ ในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้  แม้จะระดมเงินออมด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก  ซึ่งจะส่งผลโดยรวมให้แก่สหกรณ์มีผลกำไรต่อหุ้นลดลง และอาจส่งผลให้สมาชิกส่วนหนึ่งถอนตัว ก็จะยิ่งเป็นภาระมากขึ้น

     ประเด็นที่สอง เรื่องการเสนอ ลดค่าธรรมเนียมแรกเข้าของสมาชิกใหม่ เป็นเรื่องที่เอาเปรียบสมาชิกปัจจุบัน โดยเฉพาะสมาชิกที่เข้ามาร่วมสหกรณ์ตั้งแต่ต้น เมื่อ 20 ปีที่แล้วเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือร่วมใจสะสมสินทรัพย์มาจนวันนี้ เฉพาะเงินทุนสำรองก็ 30 ล้านบาท เข้าไปแล้ว ค่าธรรมเนียมสมาชิกใหม่นี้ ไม่มีผลกระทบใดๆต่อสมาชิกเก่าเลย แต่การหาเสียงว่าจะลดค่าธรรมเนียม เผินๆ ก็ ฟังดูดี

ละเมอ เช่นนี้ อาจถูกมองได้ว่า แพ้แล้วไม่ยอมเลิกลา 

แต่ถ้าไม่บันทึกไว้ ก็อาจทำใไห้สมาชิกไม่รู้แน่แก่ใจ

เวลาที่ผ่านไป สมาชิกก็ลืมเลือน ผลของการกระทำในวันนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อปีข้างหน้า

ประธาน(คนนี้) จึงจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นไว้ เพื่อ เตือนสติ ประธาน และ คณะกรรมการชุดใหม่ ให้พึงระวัง การหาเสียงผ่านพ้นไปแล้ว ผลแพ้ชนะออกแล้ว กลยุทธที่ใช้สำเร็จแล้ว 

อยากให้ใช้เวลาก่อนบริหาร ทบทวนสักนิด ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อสหกรณ์ของเรา

อ้อ ท่านสมาชิกทุกท่าน

ท่านเลือกเองนะครับ


Friday, May 16, 2008

คนรู้ "ไม่จริง"

ขำก็ขำ รำคาญก็รำคาญ กับ คนรู้ไม่จริง

คนรู้ไม่จริง กับ คนไม่รู้จริง นี่ต่างกันนะครับ

คนไม่รู้จริง แม้จะเถียงไปข้างๆคูๆ ก็ยังพอให้อภัย เพราะ ไม่รู้จริงๆ แม้จะน่าหมั่นใส้อยู่บ้าง

แต่ คนรู้ไม่จริง นี่แหละ ที่ผมบอกว่า น่ารำคาญ

เรื่องการบริหารสหกรณ์ ผมไม่กล้าคุยอวดหรอกครับว่า เก่งกล้าสามารถ
แต่เมื่ออาสาเข้ามาแล้วก็ต้อง ทำ ครับ ไม่มัวแต่ คุย ไม่มัวแต่ โจมตี
ผมถึงเคยละเมอไว้แต่ตอนแรกๆไงครับว่า กรรมการสหกรณ์ไม่ใช่นักการเมือง

ใครที่เรียกร้องให้สมาชิกทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันนั้น

สมาชิกย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันนะครับ ไม่ว่าจะมีหุ้นเท่าไร ไม่ว่าจะตำแหน่งอะไร
แต่สิทธิใน การกู้เงิน ย่อมไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพทางการเงินของแต่ละคน

คนค้ำประกันที่ค้ำ 6 คน วงเงิน 1.2 ล้าน บาท รับผิดชอบจริงคนละ 200,000 บาท
(แต่ทางกฎหมายต้องรับทั้ง 1.2 ล้าน บาทนั่นแหละครับ)

คนค้ำประกันที่ค้ำ 3 คน วงเงิน 600,000 บาท ก็รับผิดชอบจริง คนละ 200,000 บาท
(แต่ทางกฎหมายต้องรับทั้ง 600,000 บาทเช่นกัน)

ไม่ใช่ปล่อยให้ค้ำ 3 คน ในวงเงิน 1.2 ล้านบาท แล้วคนค้ำต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น

สิทธิในการค้ำกับการกู้เป็นคนละเรื่องกัน

คนที่เรียกร้องให้สมาชิกเท่ากัน เรียกว่า รู้ไม่จริง ครับ
แถมยังพยายาม จับแพะชนแกะ ให้คนไม่รู้พลอยสับสน

การช่วยเหลือกันละหว่างสมาชิกจึงเป็น หัวใจของสหกรณ์
เมื่อสมาชิกส่วนหนึ่ง บังเอิญพลาดไป เป็นหนี้เป็นสินชนิดที่เรียกว่า หนี้ท่วมหัว ยังมีคนมาบอกว่าไม่ควรช่วย ไม่ช่วยวันนี้จะช่วยตอนไหน

แล้วทำไมคนไม่มีหนี้จึงไม่ให้กู้ในวงเงินสูงๆ
ไม่ใช่ไม่ให้กู้ แต่เราเปิดวงเงินกู้ วัตถุประสงค์เฉพาะ ให้มากขึ้น
มีให้ทั้ง กู้การเคหะ กู้เพื่อซื้อรถยนต์ กู้เพื่อซื้อรถจักรยานยนต์ กู้เพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ กู้เพื่อการศึกษา กู้เพื่อติดตั้งถังแก้ส กู้เพื่อซื้อสินค้า กู้เพื่อทัศนศึกษา ใครอยากกู้เพื่ออะไรก็กู้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ ไม่ได้บังคับให้กู้ แต่ก็ไม่ใช่อิสระชนิดไม่มีปัญญาจ่าย ตอกเบี้ยทุกรายการของกู้วัตถุประสงค์เฉพาะ ถูกกว่ากู้สามัญ แล้วจะกู้สามัญไปเพื่ออะไร

เรียกร้องอย่างนี้ เรียกว่า รู้ไม่จริง

แถมเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง สักนิดนะครับ

ที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียงมีหลักการ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และ ความมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว

หมายความว่า ต้องรู้จักพอประมาณ(Moderation) คือ ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

และการพอประมาณนั้นต้อง มีเหตุผล(Reasonableness) คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยคำนึงถึงเหตุปัจจัยและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

และหากเกิดความจำเป็นขึ้นมาจากการทำตนแบบพอประมาณนั้นจะต้อง มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว(Self Immunity) คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

ทั้งนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไข ความรู้(รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) และ คุณธรรม(ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน สติปัญญา แบ่งปัน)

การพอเพียง จึงเป็นการพอเพียงตามสภาวะปัจจัยของแต่ละบุคคลแต่ละครอบครัว ที่ได้ทบทวนไตร่ตรองแล้ว

ผมเองก็ไม่รู้จริงนักกับเรื่องนี้ ก็ต้องเปิด short note ฉะนั้นก็ไม่บังอาจไปต่อว่าคนอื่นหรอกครับว่า ไม่รู้จักเศรษฐกิจพอเพียง

เพียงแต่ รำคาญ กับคน ไม่รู้จริง ก็เลยเก็บเอามา ละเมอ

แถมครั้งนี้ ละเมอหัวเราะเสียด้วย 55555

Sunday, February 17, 2008

หมาเยี่ยวรดภูเขาทอง


ท่านสมาชิกครับ หลายครั้งที่ท่านสมาชิกแสดงความเห็น ผมในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการที่สมัครเข้ามาทำงาน ก็พยายามที่จะรับฟัง แต่บางครั้งก็เหลือที่จะรับฟังจริงๆ เพราะเหตุนี้จึงไป search หาคำๆหนึ่งที่ได้รับรู้มานาน เพื่อปลอบใจตัวเอง คือคำว่า หมาเยี่ยวรดภูเขาทอง

ก็ให้บังเอิญไปพบกับบทความหนึ่งของ ท่าน ว.วชิรเมธี ก็ถือโอกาสยกเอาบทความของท่านมาทั้งบท ดังนี้ครับ

“ คำยกย่องหรือคำวิจารณ์จากคนซึ่ง ไม่รู้จริง ก็เช่นกัน เราไม่ควรถือเอาเป็นประมาณมากนัก (ไม่ได้
หมายความว่าไม่ให้ฟัง ฟังไว้ก็ดีเหมือนกัน แต่อย่าเสียเวลาให้ความสำคัญมากเกินไป)

ถ้อยคำของคนเหล่านั้น ว่าที่จริงก็เป็นได้แค่
ความเห็น
เป็น ความคิดเห็น ยังไม่ได้เลย เพราะเขาไม่เคย คิด (จะคิดต้องมีวิธีคิด มีหลักวิชา ไม่ใช่มีปากก็สักแต่ว่าพูดออกไป ใครมาถามอะไรให้ความเห็นได้หมด ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยศึกษาเรื่องนั้นมาก่อนเลย)

เขาเพียงแต่ เห็น ว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันน่าจะเป็นอย่างนี้ แล้วก็ โพล่ง ออกไปตามที่ตาเห็นหรือตามที่อารมณ์รู้สึกก็เท่านั้นเอง
ถ้าเราไปมัวเงี่ยหูฟังคนเหล่านี้ไปเสียทุกเรื่อง ชีวิตนี้ก็คงสะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเขาจะ แสดงความเห็นของเขาไม่หยุด ซึ่งเจ้า ความเห็น (อันไม่เกี่ยวกับความรู้) นี้ ถ้าไปถามเด็กห้าหกขวบ พวกเขาก็คงแสดงความเห็นได้ เหมือนกันการออกความเห็นน่ะ มันง่ายยิ่งกว่ากดรีโมตเสียอีก

ถ้าได้ยินได้ฟังถ้อยคำอันเป็นความเห็น (ไม่ถึงขั้นวิจารณ์) จากคนเหล่านี้ขอให้ถือคติเหมือนที่อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านถืออยู่ก็ได้ ท่านบอกนักข่าวที่ไปถามว่า ท่านรู้สึกยังไงกับเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ ท่านตอบประมาณว่า หมาเยี่ยวรดภูเขาทองๆ ไม่หวั่นไหวหรอก (ถ้าจำ คำ มาผิดก็ขออภัย แต่ ความ นั้นไม่ผิดแน่)

หรือเอาอย่างท่าน พุทธทาสภิกขุ ก็ได้ เมื่อมีคนกล่าวหาท่านมากๆ ด้วยสารพัดข้อหา เช่น บางคนหาว่าท่านเป็นพระบ้า พระนอกรีต เดียรถีย์ คอมมิวนิสต์ฯลฯ เมื่อมีคนไปถามว่า ทำไมไม่ตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนเหล่านั้นบ้าง ท่านหัวเราะอย่างอารมณ์ดีก่อนตอบว่า เรื่องของหมาเห่าตีน ช้างน่ะ อย่าไปสนใจนักเลย

ลองคิดว่าตัวเองเป็นภูเขาทอง หรือเป็นช้างดูสิ บางทีแทนที่เราจะเครียด อาจทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องน่าขำขึ้นมาก็เป็นได้

อ่านแล้วก็สบายใจขึ้น
แต่ก็ยัง ละเมอ อยู่เหมือนเดิม


อ้างอิง http://www.thaitv3.com/drama/tamma/page8-6.html

Monday, February 4, 2008

เรื่องที่ไม่ได้พูด

เมื่อวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา มีเรื่องอยู่หลายเรื่องที่ผมต้องการจะพูดชี้แจงในที่ประชุม แต่ด้วยสถานการณ์ไม่อำนวย คือ ระบบเสียงไม่ดี เวลาที่ไม่เพียงพอ และ เหตุผลสำคัญคือ เกรงว่าการพูดนั้น จะแรงไป สำหรับการประชุมที่ต้องการความเข้าอกเข้าใจกัน
จึงให้รู้สึกค้างๆคาๆอยู่ พอหลับก็เลย ละเมอ อีกตามเคย

ประเด็นแรก


สมาชิกส่วนหนึ่งต้องการให้แก้ปัญหาออมสิน ตรงกันข้าม กับที่คณะกรรมการดำเนินการปฏิบัติอยู่
อยากให้เป็นไปในรูปแบบที่มีผู้สมัครบางรายหาเสียง คือ ให้ผู้กู้ออมสินสามารถกู้สหกรณ์ได้ เพิ่มวงเงินกู้ ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป
อยากจะบอกเหลือเกินว่า
ถ้าสมาชิกส่วนใหญ่ ต้องการเช่นนั้น ก็ ยินดี
แต่ คำว่าสมาชิกส่วนใหญ่ นั้น จะต้องเกิดจากสมาชิกแต่ละท่านได้ ลงลายมือชื่อจริง แจ้งว่าจะให้สหกรณ์ทำเช่นนั้น เพื่อยืนยันว่า ท่านได้รับทราบข้อมูลจริงแล้ว เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว ยินดีเสี่ยงแล้ว
สหกรณ์ก็จะได้ประกาศให้สมาชิกส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย(แน่นอนย่อมรวมประธานด้วย) และไม่อยากเสี่ยง ได้ถอนตัวออกจากสหกรณ์เสียโดยพลัน

ประเด็นต่อมา

เรื่องการเลือกตั้ง
ผมมีความรู้สึกว่า รูปแบบการเลือกตั้ง ของสหกรณ์เรา ยังไม่แตกต่างไปจากเดิมที่ผมเคนละเมอไว้ใน
กรรมการสหกรณ์ ไม่ใช่ นักการเมือง คือ เราพยายาม เลียนแบบนักการเมือง
มี
การหาเสียงแบบโจมตีกัน กล่าวหาคณะกรรมการชุดเดิมว่ามีผลประโยชน์ในเรื่องต่างๆ
และที่ผมเห็นว่าแย่ที่สุด ก็คือ การแจก เช่น ได้ข่าวว่ามีการแจกไอศกรีม ฯลฯ

ผมได้รับฟังด้วยความอเนจอนาถ

จะตื่นยังไม่กล้าจะตื่นเลยครับ ท่านสมาชิก

Thursday, January 17, 2008

เงินกำลังจะหมุนมา (2)

ท่านสมาชิกที่ยังหลับฝันอยู่ จะรู้หรือไม่ว่า ประธาน ก็ยังไม่ตื่น
ความที่ ละเมอ ไว้ครั้งก่อน จึงมีภาค 2 ก็คือเป็นการละเมอต่อเนื่องนั่นเอง(แฮ่ม)

อะไรจะเกิดขึ้น ถ้ายอมให้สมาชิกไหลไปออมสิน

ท่านทราบหรือไม่ว่า ณ ปัจจุบันนี้ มี
สมาชิกรวม 1940 คน
สมาชิกกู้สามัญ 1385 คน รวมวงเงินกู้ 485.20 ล้านบาท
สมาชิกกู้ฉุกเฉิน 260 คน รวมวงเงินกู้ 1.58 ล้านบาท
สมาชิกกู้เพื่อการเคหะ 9 คน รวมวงเงินกู้ 5.71 ล้านบาท
สมาชิกกู้ซื้อสินค้า 140 คน รวมวงเงินกู้ 4.77 ล้านบาท
รวมวงเงินกู้ 497.26 ล้านบาท

หากเรานำเฉพาะสมาชิกกู้สามัญมาลองวิเคราะห์และพยากรณ์

เฉลี่ยสมาชิกกู้สามัญคนละ 350,325 บาท คิดตัวกลมๆก็ 350,000 บาท
หากมีสมาชิกไหลไปออมสินสัก 1 ใน 3 ของที่กู้สามัญ หรือประมาณ 460 คน
จะมีเงินหมุนกลับมาทันที 161 ล้านบาท (350,000x460)

เงินกองอยู่ที่สหกรณ์ อย่างเก่งที่จะทำได้ทันทีก็คือเอาไปฝากธนาคารหรือชุมนุมสหกรณ์ ได้ดอกเบี้ยเต็มที่ ร้อยละ 3.25 ขาดทุนทันที ร้อยละ 4 (7.25-3.25) คิดเป็นเงิน กำไรต่อปีที่หายไป 6.44 ล้านบาท (ปี2550 นี้กำไรสุทธิ 29.4 ล้าน)

แต่บังเอิญสมาชิกส่วนใหญ่ที่จะไหลไปออมสิน กู้วงเงินสูง เกือบๆเต็ม 600,000 บาท
หากเงินหมุนกลับมาคนละ 600,000 บาทล่ะ ก็เป็นเงินที่หมุนกลับมาทันที 276 ล้านบาท
คิดเป็นกำไรที่หายไป 11 ล้านบาท

แล้วถ้าไหลไปออมสินมากกว่านั้นละ ลองไหลไปสัก ครึ่ง ของที่กู้สามัญ (ประมาณ 700 คน)
กำไรหายไปทันที 9.8-16.8 ล้านบาท

เงินกำลังจะหมุนมา กำลังจะหมุนมา กำลังจะหมุนมา


ตื่นจากฝันเถอะท่านทั้งหลาย

Friday, January 11, 2008

เงินกำลังจะหมุนมา

ขณะนี้มีสมาชิกบางท่าน ที่ไปเข้าโครงการออมสิน มายื่นขอกู้สหกรณ์ คณะกรรมการได้ยืนยันที่จะปฏิบัติตามแนวทางของสหกรณ์ จึงมีมติให้ งดปล่อยกู้ ให้สมาชิกที่เข้าโครงการออมสินทุกประเภทเงินกู้ เนื่องจากไม่มีความมั่นคงในการเรียกกลับเงินต้นและดอกเบี้ย (รวมทั้งอาจส่งผลระยะยาวในการเรียกเก็บ เงินค่าหุ้น)

มีสมาชิกหลายท่านได้รับคำวิพากษ์คณะกรรมการ ในด้านที่เน้นอารมณ์
ประกอบกับ มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการ ทำตัวเป็น นักการเมือง
ฉวยโอกาส นำไปเป็น นโยบาย หาเสียง
ประธาน ไม่สามารถ ไปหาเสียงด้วยได้ ด้วยยังไม่หมดวาระ
ก็ได้แต่ ละเมอ มาอีกเช่นเคย

อะไรจะเกิดขึ้น ถ้ายอมให้สมาชิกไหลไปออมสิน


คณะกรรมการชุดปัจจุบัน(ที่กำลังจะหมดวาระในไม่กี่วันนี้) ต้องใช้ความกล้าหาญชาญชัย อย่างยิ่งที่อาจโดนสมาชิกส่วนใหญ่เข้าใจผิด ในการสกัดกั้นสมาชิกส่วนหนึ่งไม่ให้ เฮละโล ไปกู้ออมสิน ด้วยการ ยืนยัน หลักการของสหกรณ์ และ ยึดมั่น ความมั่นคงของสหกรณ์เป็นที่ตั้ง

สหกรณ์ช่วยเหลือสมาชิกได้ แต่ สหกรณ์ต้องมีความมั่นคง

เมื่อมี sign เพียงน้อยนิด ที่บ่งชี้ว่าอาจส่งผลกระทบให้สหกรณ์สั่นคลอน ต้องรีบหยุดยั้งทันที เราจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามไม่ได้

หากปล่อยให้สมาชิกไหลไปออมสินจำนวนมาก เงิน จะไหลกลับมากองที่สหกรณ์ กำไร จะลดลงทันที สหกรณ์จะอยู่ในภาวะ จมทุน
ยิ่งออกไปมาก ยิ่งจมทุนมาก อย่าหวังว่าจะปล่อยกู้ออกไปได้ เพราะทำเกือบเต็มที่แล้ว ยังเหลือเงินกองอยู่ในมือขณะนี้ 60 ล้าน

การปล่อยให้สมาชิกกู้ไปได้ ด้วยภาวะ เสี่ยงสูง ของสหกรณ์ โดยยอมให้สมาชิกกู้ทั้ง 2 ทาง คือทั้งออมสิน และสหกรณ์ โดยสหกรณ์เป็น เบี้ยล่าง คือ สมาชิกหักจ่ายออมสินก่อน สหกรณ์ย่อมสูญเสียหลักประกันอันมั่นคงเดิมไป จนหมดสิ้น

หากยอมช่วยเหลือสมาชิกส่วนน้อยบางราย ให้กู้ได้ โดยสหกรณ์ไม่มีความมั่นคง จะเป็นจุดเริ่มต้นของ แผลเบาหวาน ที่จะลุกลามไปจนต้อง ตัดขาทิ้ง หรือ เสียชีวิตในที่สุด

ผู้สมัครกรรมการชุดใหม่ พึงสังวรไว้ให้ดี
ถ้าท่านยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด
โปรดสละเวลามาคุยกับ ประธาน (ที่ท่านจะต้องทำงานร่วมด้วย) ก่อนจะไปหาเสียง

ท่านสมาชิก
โปรดทบทวน ด้วยสติ ก่อนจะตัดสินใจเลือกใครเข้ามาเป็นกรรมการ


อย่าปล่อยให้ประธาน ละเมอ อยู่ได้นะเออ

Sunday, January 6, 2008

เลือกตั้งกรรมการสหกรณ์ คิด คิด คิด

วันที่ 26 มกราคม 2551 จะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งในวันนั้นจะต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการ แทนผู้ที่หมดวาระลง จำนวน 8 ท่าน เป็นผู้แทนจากกรรมการกลาง 4 ท่าน ผู้แทนจากโรงพยาบาลชุมชน 3 ท่าน และ ผู้แทนจากสาธารณสุขอำเภอ 1 ท่าน

ผมเคยเป็นกรรมการและประธานกรรมการหลายสมัย ในปีที่แล้ว ผมเสนอรูปแบบของการสมัครเป็นทีม เพื่อนำผู้ที่มีแนวคิดเหมือนกัน คุยกันในหลักการไว้ล่วงหน้ามาร่วมกันพัฒนาสหกรณ์ ไม่เช่นนั้น คณะกรรมการที่เข้ามาแบบไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ก็จะทำตามกระแสอย่างเดียว เพื่อเอาใจสมาชิก

ปีนี้ก็ยังคงยืนยันว่า ผู้ที่เข้ารับเลือกตั้งควรจะรวมทีมและกำหนดนโยบายที่ชัดเจน เพื่อการพัฒนาสหกรณ์
และเพื่อเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของทีม ผมเสนอว่า ทีมที่จะเข้ามาใหม่ต้องศึกษาแนวคิดของคณะกรรมการที่เหลืออยู่เดิม และเสนอแนวนโนบายที่เมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้ว สามารถเดินร่วมกันไปได้

ผมอยากจะเชียร์ให้ชัดเจนว่าควรเลือกทีมไหน เพราะจะต้องทำงานร่วมกัน
แต่ก็ต้องในสถานที่อื่น
ตรงนี้ ก็ได้แต่ละเมอ บอกว่า
มีทีมเดียวที่เข้ามาคุยกับประธาน(ที่ต้องทำงานต่ออีก 1 ปี) ถึงเรื่องแนวคิดด้านนโยบายอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ไปเสาะหากันเองนะครับ